
จากบัณฑิตสาวคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เอกภาษาฝรั่งเศส สู่นิสิตปริญญาเอก แขนงวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะนี้ แป้ง – ปิยกฤตา เครือหิรัญ กำลังศึกษาปัญหาสังคมปัจจุบัน เรื่องความรุนแรงในคู่รัก และปัจจัยที่อาจมีผลต่อโอกาสที่เหยื่อจะได้รับความช่วยเหลือ มาฟังแป้งเล่าที่มาที่ไปและข้อค้นพบเบื้องต้นจากงานวิจัยของเธอกันค่ะ
.
.
*** ทำไมจึงสนใจเรื่อง ความรุนแรงในคู่รัก? ***
.
จุดเริ่มต้นที่อยากทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ เกิดจากคำถามว่า ปกติขึ้นชื่อว่า “ความรุนแรง” คนทั่วไปก็มองมันในทางลบ เช่น เวลาเราเห็นวัยรุ่นตีกัน หรือคนทำร้ายกัน เรารู้สึกไม่ดีและคิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ แต่ทำไมพอมันเกิดขึ้นในบริบทของ “คู่รักหรือครอบครัว” คนจำนวนมากกลับมองว่า “ผัวเมียตีกันเป็นเรื่องธรรมดา” แป้งก็เคยคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะใคร ๆ ก็พูดแบบนั้น
.
จนเมื่อมาเรียนต่อด้านจิตวิทยาสังคม ได้อ่านเรื่องราว ทฤษฎี งานวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับบทบาททางเพศของผู้หญิงที่เป็นอยู่ในสังคมมากขึ้น จนตระหนักว่า คำว่า “ธรรมดา” นี่แหละที่ทำให้เรื่องนี้ยิ่งน่ากลัว และเป็นประเด็นที่ควรได้รับความสนใจ
.
เพราะการรับรู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง “ธรรมดา” ทำให้เหยื่อที่ถูกกระทำความรุนแรงจากคนรัก ไม่กล้าออกมาขอความช่วยเหลือ เนื่องจากถูกทำให้เชื่อว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่ คนที่ต้องการให้ความช่วยเหลือก็เข้าไปไม่ได้ เพราะถูกกีดกันด้วยคำว่า มันเป็น “เรื่องธรรมดาของสามีภรรยา”
.
แต่ที่จริงแล้ว ไม่มีใครสมควรถูกกระทำความรุนแรง โดยสังคมมองว่าเป็นเรื่อง “ธรรมดา” ไม่ใช่หรือ?
.
.
***งานวิจัยของแป้งศึกษาการรับรู้ของตำรวจที่มีต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในคู่รัก ทำไมจึงเลือกศึกษาในตำรวจ? ***
.
เพราะตำรวจคือที่พึ่งแรกที่เราจะไปขอความช่วยเหลือเวลาเกิดเหตุด่วนเหตุร้าย ดังนั้น ความคิดเห็นหรือมุมมองต่าง ๆ ของพี่ ๆ ตำรวจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการเริ่มต้นกระบวนการช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงในคู่รัก
.
ที่ผ่านมาแป้งได้อ่านงานวิจัย รวมถึงพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจมาบ้างเกี่ยวกับปฎิบัติการให้ความช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว พบว่าทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมีทิศทางคล้ายกัน คือ มักใช้การไกล่เกลี่ย รวมถึง พรบ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าให้เน้นการรักษาไว้ซึ่งสถาบันครอบครัว
.
แต่ทว่าทางออกนี้ กลับกลายเป็นการผลักเหยื่อกลับเข้าไปในความสัมพันธ์ที่ถูกทำร้าย
.
ด้วยเหตุนี้ แป้งจึงสนใจศึกษาปัจจัยทางจิตวิทยาที่มีผลต่อการรับรู้ของพี่ ๆ ตำรวจเมื่อได้รับแจ้งเหตุความรุนแรงในคู่รัก เช่น เจตคติ (attitude) ต่อเพศหญิง และลักษณะท่าทางของเหยื่อที่เป็นผู้หญิง ว่าอะไรมีผลต่อการตัดสินว่าเหตุการณ์นั้นๆ ใครเป็นฝ่ายผิด ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากหรือน้อย ยอมรับได้หรือไม่ ซึ่งน่าจะส่งผลต่อไปยังการตัดสินใจว่าจะช่วยเหลือเหยื่ออย่างไร
.
.
***แล้วแป้งทำการทดลองอย่างไร? ***
.
แป้งเพิ่งทำการทดลองแรกเสร็จนะคะ ในการทดลองแรก แป้งเริ่มจากวัดเจตคติต่อเพศหญิงของพี่ ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยใช้มาตรวัดอคติทางเพศ (sexism) ซึ่งแบ่งลักษณะอคติทางเพศเป็น 4 แบบ ได้แก่
.
1. อคติทางเพศแบบก้าวร้าว (hostile sexism) คือ การดูถูกหรือรังเกียจผู้หญิงว่าล้วนด้อยค่า ไร้ความสามารถ ควรเป็นเบี้ยล่าง และเชื่อฟัง ยอมตามผู้ชาย
2. อคติทางเพศแบบอ่อนโยน (benevolent sexism) คือ การมองว่าผู้หญิงล้วนสวยงาม น่าเอ็นดู อ่อนแอ เปราะบาง พึ่งพาตนเองไม่ได้ ต้องได้รับการทะนุถนอม
3. อคติทางเพศแบบแยกขั้ว (ambivalent sexism) คือ การแบ่งผู้หญิงออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ด้อยค่า น่ารังเกียจ และกลุ่มที่อ่อนโยนน่าทะนุถนอม และเลือกปฏิบัติกับผู้หญิงสองกลุ่มแตกต่างกันสองขั้ว
4. ไม่มีอคติทางเพศ (nonsexism)
.
จากนั้นให้พี่ ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจดูวิดีโอจำลองสถานการณ์เหยื่อที่มาแจ้งความเนื่องจากถูกสามีทำร้าย โดยพี่ ๆ ตำรวจครึ่งหนึ่งในแต่ละกลุ่มข้างต้นดูวิดีโอที่เหยื่อมีลักษณะและพฤติกรรมตามบทบาทของเพศหญิงที่สังคมคาดหวัง คือ แต่งตัวเรียบร้อยมิดชิด พูดจาสุภาพ และทำหน้าที่ภรรยาได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
.
ส่วนพี่ๆ ตำรวจอีกครึ่งหนึ่งดูวิดีโอที่ใช้ผู้แสดงเป็นเหยื่อคนเดียวกัน แต่ให้แต่งตัวเปรี้ยวซ่า และแสดงพฤติกรรมไม่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม เช่น พูดจาโผงผาง และไม่ได้ทำหน้าที่ดูแลสามีมากนัก
.
จากนั้น ขอให้พี่ ๆ ตำรวจตอบแบบวัดเจตคติต่อการใช้ความรุนแรงในคู่รัก และแบบวัดแนวโน้มที่จะโทษว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของเหยื่อ
.
.
***ผลการทดลองเป็นอย่างไร? ***
.
พี่ ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มที่ไม่มีอคติทางเพศ (non-sexism) เป็นกลุ่มเปรียบเทียบ มีคะแนนเจตคติต่อความรุนแรงในคู่รักและการโทษเหยื่ออยู่ในระดับกลาง ๆ (ประมาณ 2.5 ถึง 3 ซึ่งเป็นค่ากลางจากช่วงคะแนน 1 ถึง 5 คะแนน) ไม่ว่าเหยื่อที่เป็นเพศหญิงจะมีลักษณะและพฤติกรรมตามความคาดหวังของสังคมหรือไม่
.
ส่วนกลุ่มที่จัดว่ามีอคติทางเพศแบบก้าวร้าว (hostile sexism) และแบบแยกขั้ว (ambivalent sexism) เมื่อเหยื่อมีลักษณะและพฤติกรรมตามความคาดหวังของสังคม จะมีคะแนนกลางๆ ใกล้เคียงกลุ่มที่ไม่มีอคติ แต่มีแนวโน้มโทษว่าเป็นความผิดของเหยื่อและคิดว่าการใช้ความรุนแรงนี้รับได้มากกว่า (เกือบ 4 จาก 5 คะแนน) เมื่อเหยื่อมีลักษณะและพฤติกรรมขัดกับความคาดหวังของสังคมที่มีต่อเพศหญิง
.
ตรงข้ามกับกลุ่มที่มีอคติทางเพศแบบอ่อนโยน (benevolent sexism) ที่มีคะแนนกลางๆ ใกล้เคียงกลุ่มที่ไม่มีอคติ เมื่อเหยื่อมีลักษณะและพฤติกรรมขัดกับความคาดหวังของสังคม แต่หากเหยื่อมีลักษณะและพฤติกรรมสอดคล้องกับความคาดหวังของสังคมที่มีต่อเพศหญิง จะยิ่งเห็นใจ ไม่โทษว่าเป็นความผิดของเหยื่อและคิดว่าการใช้ความรุนแรงนี้เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ (ประมาณ 2 ถึง 2.5 คะแนน)
.
.
***สิ่งสำคัญที่แป้งได้เรียนรู้จากงานนี้คืออะไร? ***
.
ตอนแรกเคยเข้าใจว่าอคติจากบทบาททางเพศที่สังคมคาดหวังนั้นน่าจะหายไปจากสังคมแล้ว ไม่คิดว่าผู้หญิงที่มีลักษณะแตกต่างกัน เป็นหรือไม่เป็นไปตามที่สังคมคาดหวัง ยังส่งผลต่อเจตคติหรือมุมมองของคนในสังคมต่อเรื่องต่าง ๆ อยู่ ทั้งที่มันไม่ควรมีผลใด ๆ โดยเฉพาะการได้รับความช่วยเหลือในเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่นการถูกทำร้ายโดยคนรัก
.
ในขณะเดียวกัน แป้งก็ได้เรียนรู้ว่าภาระงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเยอะมาก จากตอนแรกเคยไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องใช้วิธีไกล่เกลี่ยในคดีเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว แต่พอได้เข้าไปคุยและสัมผัสจริง ๆ ทำให้รู้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีภาระหน้าที่ต่าง ๆ ที่ต้องทำมากมายจริง ๆ
.
จากสิ่งนี้จึงทำให้นำมาคิดต่อว่า การให้ความช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ควรเป็นการทำงานร่วมกันของหลาย ๆ สหวิชาชีพ รวมไปถึงคนในสังคมก็ควรจะช่วยกัน เพื่อให้ภาระไม่ไปตกที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนเกินไป และเหยื่อได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม