ก่อนปี ค.ศ. 2000 มาร์ติน เซลิกแมน เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ค้นพบปรากฏการณ์ “ความสิ้นหวังที่เกิดจากการเรียนรู้” (learned helplessness) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของภาวะซึมเศร้า (depression) แต่หลังจากปี ค.ศ. 2000 เรารู้จักเขาในฐานะผู้ก่อตั้งศาสตร์ “จิตวิทยาเชิงบวก” (positive psychology)
.
อะไรทำให้เขาหันหลังให้ด้านที่มืดมิด และเดินหน้าสู่การศึกษาด้านบวกของมนุษย์?
.
.
***** Learned Helplessness *****
.
ปรากฏการณ์ “ความสิ้นหวังที่เกิดจากการเรียนรู้” (learned helplessness) เป็นงานคลาสสิกชิ้นหนึ่งที่หนังสือจิตวิทยาทั่วไปหรือจิตวิทยาสังคมมักต้องเขียนถึง อันที่จริง ผู้ค้นพบปรากฏการณ์นี้ในห้องทดลองเป็นครั้งแรก คือรุ่นพี่นักศึกษาปริญญาเอกของเซลิกแมนคนหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา
.
รุ่นพี่คนดังกล่าวตั้งใจจะฝึกให้สุนัขให้เชื่อมโยงเสียงกริ่งกับอันตราย เพื่อทดสอบว่าต่อมาสุนัขเรียนรู้ที่จะหนีทันทีที่ได้ยินเสียงกริ่งไหม ขั้นตอนแรกเขาจับสุนัขนอนในเปลยาง ติดสายไฟไว้ที่อุ้งเท้าขาหลัง จากนั้นเปิดเสียงกริ่งดัง ๆ แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าให้ช็อกโดยสุนัขดิ้นหนีไม่ได้ ทำเช่นนี้ซ้ำหลายครั้งจนสุนัขกลัวเสียงกริ่ง
.
จากนั้นปล่อยสุนัขที่เชื่อมโยงเสียงกริ่งกับไฟฟ้าช็อกแล้วเข้าไปในกรงที่แบ่งเป็นสองส่วน ข้างหนึ่งเป็นพื้นโลหะ ปล่อยกระแสไฟฟ้าได้ แต่ถ้ามันกระโดดข้ามราวกั้นเตี้ย ๆ ไปอีกฝั่งหนึ่งก็จะหนีจากการถูกช็อกได้ เขาคาดว่าเมื่อเปิดเสียงกริ่ง สุนัขที่ผ่านการฝึกขั้นแรกมาต้องกระโดดหนีเร็วกว่าสุนัขที่ไม่เคยผ่านการฝึกดังกล่าวแน่ ๆ
.
แต่ผลที่พบกลับตรงกันข้าม สุนัขที่ผ่านการฝึกขั้นแรกนอนนิ่งให้ไฟช็อกอยู่อย่างนั้นโดยไม่แม้แต่พยายามจะหนี ทำให้เขาหัวเสียมากที่การทดลองไม่เป็นไปตามหลักการเรียนรู้แบบพฤติกรรมนิยมที่เป็นกระแสหลักในจิตวิทยาขณะนั้น (ค.ศ. 1962)
.
.
***** Insight *****
.
แทนที่จะเห็นว่าเป็นการทดลองที่ล้มเหลว เซลิกแมน ซึ่งตอนนั้นเป็นนักศึกษาปริญญาเอกปีหนึ่งด้านจิตวิทยาการทดลอง เห็นแล้วกลับมองว่านั่นเป็นการค้นพบปรากฏการณ์ที่สำคัญมาก
.
เซลิกแมนตีความว่า สุนัขที่ถูกฝึกในขั้นแรก “เรียนรู้” ว่า ไม่ว่ามันจะทำอะไรก็ควบคุมหรือหนีจากภาวะนี้ไม่ได้ มันจึง “สิ้นหวัง” แล้วเลือกนอนเฉย ๆ ให้ไฟฟ้าช็อกโดยไม่แม้แต่พยายามจะหนี เซลิกแมนจึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ความสิ้นหวังที่เกิดจากการเรียนรู้”
.
หลังจากทำวิจัยปรากฏการณ์นี้กับสัตว์ทดลองมากมาย เพื่อค้นหาสาเหตุไปจนถึงคิดค้นวิธีการบำบัด เซลิกแมนก็เกิดคำถามต่อว่า แล้วจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์ได้อย่างไร? เขามองว่า ปรากฏการณ์นี้คล้ายสิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ที่ผ่านเหตุการณ์เลวร้าย เช่น สงคราม ความยากจน ความเจ็บป่วย ที่เจ้าตัวไม่สามารถควบคุมอะไรได้เป็นเวลายาวนาน และมักเกิดภาวะซึมเศร้าในเวลาต่อมา
.
หลังจากเรียนจบปริญญาเอกและไปเป็นอาจารย์สอนด้านจิตวิทยาการทดลองที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลได้ 2-3 ปี เซลิกแมนจึงเบนเข็มไปเรียนรู้ด้านจิตเวชเพิ่มเติมภายใต้การดูแลของแอรอน ที. เบค (Aaron T. Beck) จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะซึมเศร้าอันดับต้น ๆ ของอเมริกา จากนั้นจึงกลับมาเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาจิตวิทยามหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย
.
.
**** Negativities Rule *****
.
ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีหลังจากนั้น เซลิกแมนก็มุ่งมั่นทำวิจัยว่า ความสิ้นหวังที่เกิดจากการเรียนรู้มีผลกับภาวะซึมเศร้าในมนุษย์อย่างไร และจะบำบัดได้อย่างไร
.
ในขณะที่ชีวิตส่วนตัว เซลิกแมนยอมรับว่าตัวเองเป็นคนที่ค่อนข้างคิดลบ และไม่น่าคบหาเท่าไหร่ เขามักหมกมุ่นกับงานวิจัย ซึ่งมีแต่เรื่องด้านลบของมนุษย์ เช่น การมองโลกแง่ร้าย ความสิ้นหวัง ภาวะซึมเศร้า นอกจากนี้เขายังเป็นคนช่างจับผิดและวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น อารมณ์เสีย และหงุดหงิดบ่อย ๆ จนในช่วงปี ค.ศ.1980 หลังหย่าร้างกับภรรยาคนแรก และความสัมพันธ์กับคนรักอีกคนหนึ่งล้มเหลว เซลิกแมนก็พบว่าตัวเองกำลังมีภาวะซึมเศร้า
.
.
***** The Turning Point *****
.
แต่แล้วก็เริ่มมีเหตุการณ์หลายๆ อย่างที่เป็นจุดเปลี่ยนให้เขาหันเหไปสู่จิตวิทยาเชิงบวกเช่น การได้พบกับคริส ปีเตอร์สัน นักจิตวิทยาสังคมที่มาร่วมกันสร้างแบบประเมินรูปแบบการอธิบายสาเหตุ แบ่งคนเป็นคนมองโลกแง่ดีและมองโลกแง่ร้ายตามวิธีอธิบายสาเหตุของเรื่องดีและร้ายที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ซึ่งเขาพบว่า คนที่มีคะแนนการอธิบายสาเหตุแบบมองโลกแง่ร้ายสูงมีแนวโน้มจะเกิดภาวะซึมเศร้า ส่วนคนที่มีคะแนนมองโลกแง่ดีสูง มักประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในงานที่ต้องพบกับความล้มเหลวบ่อย ๆ และอาศัยความอดทนสูง เช่น พนักงานขายประกัน ต่อมาเซลิกแมนยังได้รับการติดต่อจากสำนักพิมพ์ให้เขียนหนังสือว่าด้วย “การมองโลกแง่ดีที่เกิดจากการเรียนรู้” (learned optimism) ซึ่งกลายเป็นหนังสือขายดีในอเมริกาอีกด้วย
.
แต่สิ่งที่เซลิกแมนระบุว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขาเปลี่ยนมาสนใจศึกษาด้านบวกของชีวิตมนุษย์ คือ แมนดี้ (Mandy) นักศึกษาปริญญาเอก ที่กลายเป็นรักแท้ของเขาในเวลาต่อมา
.
แมนดี้เป็นคนสดใส มองโลกแง่บวก และให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงและความสุขของครอบครัว ตั้งแต่แต่งงานกับแมนดี้ เซลิกแมนพบว่าตัวเองเปลี่ยนไป เขาใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้นแทนที่จะหมกมุ่นแต่กับงาน และเริ่มมองงานที่ทำจากมุมใหม่ จากที่เชื่อมาตลอดว่าความสำเร็จของจิตบำบัดคือการทำให้ผู้รับการบำบัดหายจากอาการทางลบ เขาเริ่มตระหนักว่า การไม่ทุกข์ไม่ได้แปลว่ามีความสุข จิตบำบัดเพียงช่วยให้ผู้เข้ารับการบำบัดขยับจากติดลบมาที่ศูนย์ เป็นชีวิตที่ว่างเปล่าเท่านั้นเอง
.
.
***** Positive Psychology *****
.
ตั้งแต่นั้น เซลิกแมนจึงเริ่มศึกษาสิ่งที่ทำให้ชีวิตมนุษย์เติมเต็ม มีความสุข มีคุณค่าควรแก่การมีชีวิตอยู่ แทนที่จะมุ่งแก้ไขความผิดปกติของมนุษย์ เช่น ศึกษาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากคุณลักษณะทางบวกที่เป็นจุดแข็งของมนุษย์ (character strengths) เสนอโมเดลและแบบประเมินสุขภาวะทางจิต (psychological well-being) ห้าองค์ประกอบ ชื่อว่า PERMA ซึ่งย่อมาจาก Positive emotion (การมีอารมณ์ทางบวก), Engagement (การได้ทุ่มเททำสิ่งที่รัก), Relationship (ความสัมพันธ์ที่ดี), Meaning (การได้ทำสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมาย), และ Achievement (ความสำเร็จ) เป็นต้น
.
นอกจากนี้ เซลิกแมนยังทุ่มเทกับการสร้างนักจิตวิทยารุ่นใหม่ ที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้เกิดขึ้นในศาสตร์จิตวิทยาด้วย ในช่วงปี ค.ศ. 1999 – 2001 เขาร่วมกับมิฮาลี ชิคเซนมิฮาย (Mihaly Csikszentmihalyi) และเรย์ ฟอวเลอร์ (Ray Fawler) ก่อตั้งศาสตร์จิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology) โดยคัดเลือกนักจิตวิทยาดาวรุ่ง 18 คน ที่มีแววจะเป็นผู้นำของวงการจิตวิทยาในอนาคต มาร่วมสัมมนาวางแผนการทำวิจัย หาทุน เผยแพร่ข้อค้นพบจากการวิจัยจิตวิทยาเชิงบวก
.
ต่อมาเซลิกแมนยังได้ก่อตั้งหลักสูตรปริญญาโทด้านจิตวิทยาเชิงบวกประยุกต์ (Master of Applied Positive Psychology) ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย เพื่อส่งเสริมให้มีการทำวิจัยเชิงประยุกต์ด้วยระเบียบวิธีวิจัยที่แม่นยำทางวิทยาศาสตร์ และนำศาสตร์จิตวิทยาเชิงบวกไปสร้างประโยชน์ในโลกความเป็นจริง เช่น นักศึกษาคนหนึ่งของเขาสนใจเรื่องการศึกษาเชิงบวก (positive education) ได้เดินทางไปทำการทดลองกับนักเรียนมากกว่าหกหมื่นคน ในภูฏาน ชิลี และเม็กซิโก และพบว่าโปรแกรมการเสริมสร้างสุขภาวะทางจิตของนักเรียน ที่เขาสร้างขึ้นร่วมกับครูในแต่ละประเทศ ไม่เพียงทำให้นักเรียนมีความสุขมากขึ้น แต่ยังมีผลการเรียนดีขึ้นกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญด้วย
.
ปัจจุบันเซลิกแมนอายุ 77 และยังคงทุ่มเทเพื่อสร้างและสนับสนุนนักจิตวิทยารุ่นใหม่ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย เซลิกแมนเขียนไว้ในบทสุดท้ายของหนังสืออัตชีวประวัติของเขาว่า การเปลี่ยนแปลงของศาสตร์จิตวิทยากับการเปลี่ยนแปลงของชีวิตเขาเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง จากที่เคยสนใจแต่สิ่งที่ทำให้ชีวิตติดลบ กลายเป็นใส่ใจสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่าควรแก่การมีชีวิตอยู่ ทั้งสองอย่าง “เติบโตจากความสิ้นหวังไปสู่ความหวัง จากความมืดมิดไปสู่แสงสว่าง”
…
เรื่องโดย: ทิพย์นภา หวนสุริยา
Martin Seligman: จากนักวิจัย ความสิ้นหวัง สู่ผู้ก่อตั้ง จิตวิทยาเชิงบวก
Please follow and like us: